วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

ผลงานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ชื่อวิจัย   การสำรวจแพลงก์ตอนในสระเลี้ยงปลานิลจิตรลดา
ผู้จัดทำ  นางสาวเสาวลักษณ์ แก้วชัด และนายทศพงศ์ ธรรมจารุวัฒน์
บทคัดย่อ
                แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ จะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร ในการสำรวจความหลากหลายของแพลงก์ตอนในสระเลี้ยงปลานิลจิตรลดาของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ในสระเลี้ยงปลานิลจิตรลดา ตรวจวัดคุณภาพน้ำในสระเลี้ยงปลานิลจิตรลดาจากแพลงก์ตอนที่สำรวจได้ และฝึกทักษะการใช้กล้องจุลทรรศน์ในการหาแพลงก์ตอน
                ในการสำรวจความหลากหลายของแพลงก์ตอนในสระเลี้ยงปลานิลจิตรลดามีวิธีการ คือ เก็บตัวอย่างน้ำจากสระโดยกำหนดจุดต่างๆ ในรอบสระ 5 จุด (A, B, C, D, E) จากนั้นนำมาเทใส่บีกเกอร์ ใช้หลอดหยด หยดน้ำแต่ละจุดบนสไลด์ นำไปส่องดูกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย 10X และ 40X
                ในการสำรวจความหลากหลายของแพลงก์ตอน พบว่ามีแพลงก์ตอนทั้งหมด 2 ดิวิชั่น คือ Chlorophyta และ Cyanophyta โดยทั้งหมดเป็นแพลงก์ตอนพืชมี 6 ชนิด คือ Botryococcus, Haematococus, Phytoplankton, Eudorina, Pseudoanbaena และ Ceratium แพลงก์ตอนที่พบมากที่สุด คือ Haematococus และพบว่าแหล่งน้ำดังกล่าวจัดอยู่ในระดับคุณภาพดี เนื่องจากแพลงก์ตอนที่อาศัยอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นแพลงก์ตอนที่อยู่ในน้ำสะอาด ในการสำรวจความหลากหลายของแพลงก์ตอนในสระเลี้ยงปลานิลจิตรลดาครั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้พบแพลงก์ตอนจำนวนน้อย เนื่องจากการเก็บตัวอย่างน้ำได้ไม่ทั่วทั้งสระ อีกทั้งแหล่งน้ำนี้ยังเป็นแหล่งน้ำที่ปิดไม่มีการถ่ายเทของน้ำ สิ่งมีชีวิตจึงเข้ามาอาศัยได้น้อย และมีปลานิลที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น